2 กันยายน 2567
สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) รายงานว่า เทคโนโลยี IDA Platform ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มที่สามารถเชื่อมโยงข้อมูลจากอุปกรณ์ IoT (Internet of Things) เพื่อทำการตรวจจับและวิเคราะห์สัญญาณต่าง ๆ จากเครื่องจักรในกระบวนการผลิตได้แบบเรียลไทม์ ช่วยให้บริษัท ไลอ้อน (ประเทศไทย) จำกัด สามารถทราบสถานะการทำงานของเครื่องจักรและดำเนินการแก้ไขปัญหาได้อย่างทันท่วงที ซึ่งเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนด้านพลังงานในกระบวนการผลิตของโรงงานได้อย่างชัดเจน
เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2567 ณ หอมนุษยธรรม บริษัท ไลอ้อน (ประเทศไทย) จำกัด ตำบลหนองขาม อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี ได้มีการจัดกิจกรรม “NSTDA Meets the Press” โดยมีผู้บริหารระดับสูงจากหลายองค์กรเข้าร่วมงานและให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน ซึ่งประกอบด้วย ดร.พนิตา พงษ์ไพบูลย์ ผู้อำนวยการศูนย์นวัตกรรมการผลิตยั่งยืน (SMC), ดร.รวีภัทร์ ผุดผ่อง ผู้อำนวยการกลุ่มแพลตฟอร์มสนับสนุนอุตสาหกรรม 4.0 สวทช., ดร.กิตติวัตร โสมวดี รองผู้จัดการบริหารการผลิต Plant 200 & Plant 400 บริษัท ไลอ้อน (ประเทศไทย) จำกัด และคุณธเนศ อิงสกุลรุ่งเรือง ผู้จัดการส่วนเทคโนโลยีภาคอุตสาหกรรม บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็น System Integrator (SI)
การสัมภาษณ์ดังกล่าวได้เน้นถึงความสำเร็จในการปรับตัวของบริษัท ไลอ้อน (ประเทศไทย) ในการพัฒนาโรงงานอุตสาหกรรมให้เข้าสู่มาตรฐานอุตสาหกรรม 4.0 อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน ถือเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนของการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการพัฒนาอุตสาหกรรมในยุคดิจิทัล
การประยุกต์ใช้แพลตฟอร์ม i4.0 ในโรงงานอุตสาหกรรมของบริษัท ไลอ้อน (ประเทศไทย) จำกัด
ดร.กิตติวัตร โสมวดี รองผู้จัดการบริหารการผลิต บริษัท ไลอ้อน (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวถึงเหตุผลที่บริษัทตัดสินใจใช้แพลตฟอร์ม i4.0 โดยชี้ให้เห็นว่าโรงงานของบริษัทไลอ้อนส่วนใหญ่เคยอยู่ในอุตสาหกรรม 2.0 และ 3.0 มาก่อน เมื่อถึงปี 2016 บริษัทมีแผนการสร้างโรงงานใหม่จำนวนมาก จึงตัดสินใจปรับปรุงและพัฒนากระบวนการผลิตให้ทันสมัยยิ่งขึ้น โดยเริ่มจากการศึกษาข้อมูลและเข้าร่วมโครงการกับศูนย์นวัตกรรมการผลิตยั่งยืน (SMC) ของ สวทช. ซึ่งช่วยประเมินความพร้อมของโรงงานในการเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรม 4.0
ในกระบวนการประเมินดัชนีความพร้อมด้านอุตสาหกรรม 4.0 หรือ Thailand i4.0 Index บริษัทได้รับคำแนะนำในประเด็นที่ควรปรับปรุงเพื่อเปลี่ยนแปลงจากการใช้กระดาษมาเป็นระบบดิจิทัล และมุ่งเน้นการพัฒนา Smart Factory โดยนำแพลตฟอร์ม IDA (Industrial IoT and Data Analytics Platform) มาช่วยเติมเต็มจุดอ่อนในการบริหารจัดการพลังงานและกระบวนการผลิต ซึ่งระบบนี้สามารถวิเคราะห์ข้อมูลพลังงานและแสดงผลผ่าน Dashboard ที่เป็นมิตรต่อผู้ใช้ และสามารถขยายการใช้งานไปยังระบบอื่นๆ ภายในโรงงาน เช่น ระบบไอน้ำ (Steam System), ชิลเลอร์ (Chiller), เครื่องทำความเย็นขนาดใหญ่ และระบบน้ำหล่อเย็นของเครื่องจักร (Cooling Tower) ที่มีการใช้งานมานานกว่า 2 ปี
ดร.กิตติวัตร กล่าวเพิ่มเติมว่า “ผลลัพธ์ที่ได้รับจากการใช้แพลตฟอร์ม IDA ทำให้บริษัท ไลอ้อน (ประเทศไทย) จำกัด สามารถประหยัดค่าใช้จ่ายพลังงานในกระบวนการผลิตได้ถึง 60,000 กิโลวัตต์–ชั่วโมงต่อปี ลดค่าไฟฟ้าได้เป็นหลักแสนบาทต่อเดือน ซึ่งสามารถนำค่าใช้จ่ายที่ประหยัดได้ไปพัฒนาระบบอื่นๆ ภายในโรงงานต่อไปได้“
บทบาทของศูนย์นวัตกรรมการผลิตยั่งยืน (SMC) และแพลตฟอร์ม IDA
ดร.พนิตา พงษ์ไพบูลย์ ผู้อำนวยการศูนย์นวัตกรรมการผลิตยั่งยืน (SMC) กล่าวเสริมว่า แพลตฟอร์ม IDA หรือ Industrial IoT and Data Analytics Platform เป็นโครงการนำร่องสำคัญภายใต้ศูนย์นวัตกรรมการผลิตยั่งยืน ซึ่งเกิดจากความร่วมมือระหว่าง ARIPOLIS-SMC สวทช. และพันธมิตรรัฐร่วมเอกชน แพลตฟอร์มนี้สามารถเชื่อมโยงข้อมูลจากอุปกรณ์ IoT เพื่อตรวจจับสัญญาณจากเครื่องจักรในกระบวนการผลิต และทำการวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อนำไปสู่การบริหารจัดการการผลิตอย่างมีประสิทธิภาพและอนุรักษ์พลังงาน
บริษัท ไลอ้อน (ประเทศไทย) จำกัด ในพื้นที่อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี ได้ใช้งานแพลตฟอร์ม IDA ในโรงงานที่ 4 โดยมีบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ให้บริการ System Integrator (SI) ในการติดตั้งอุปกรณ์เชื่อมต่อต่างๆ ภายในโรงงาน แพลตฟอร์มนี้ทำให้การวิเคราะห์ข้อมูลการผลิต (Data Analytics) มีความยืดหยุ่นและสามารถปรับใช้งานได้หลากหลายมิติ ได้แก่
- การตรวจวัดปริมาณการใช้พลังงาน (Energy Monitoring) : การเก็บและวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อทราบต้นทุนและการใช้พลังงานในโรงงาน เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้พลังงานให้คุ้มค่าสูงสุด
- การปรับปรุงประสิทธิภาพของกระบวนการผลิต (Overall Equipment Effectiveness – OEE) : การเชื่อมโยงข้อมูลพารามิเตอร์ต่าง ๆ ของเครื่องจักรเพื่อวิเคราะห์ประสิทธิผลโดยรวม นำไปสู่การปรับปรุงกระบวนการผลิตอย่างตรงจุดเพื่อเพิ่มความสามารถในการผลิต (Productivity)
- การบำรุงรักษาเชิงพยากรณ์ (Predictive Maintenance) : การวิเคราะห์ข้อมูลพารามิเตอร์ของเครื่องจักรเพื่อตรวจสอบความเป็นไปได้ของความเสียหายในอนาคต ช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถวางแผนการซ่อมบำรุงได้อย่างทันท่วงที ลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพในการบำรุงรักษา
ด้วยการประยุกต์ใช้แพลตฟอร์ม IDA ทำให้โรงงานอุตสาหกรรมสามารถบริหารจัดการการผลิตได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น และลดต้นทุนการดำเนินการได้อย่างมีนัยสำคัญ
ความสำคัญของ System Integrator ในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรม 4.0
คุณธเนศ อิงสกุลรุ่งเรือง ในฐานะ System Integrator (SI) ได้กล่าวถึงบทบาทสำคัญของ SI ในการสนับสนุนโรงงานอุตสาหกรรม โดยมุ่งเน้นการขยายการใช้งานแพลตฟอร์ม IDA (Industrial Data Analytics) เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีขั้นสูงในราคาที่เหมาะสม นอกจากนี้ ยังช่วยให้โรงงานสามารถทดลองใช้เทคโนโลยี Internet of Things (IoT) และระบบวิเคราะห์ข้อมูลอุตสาหกรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพผ่านการร่วมมือกับบริษัทผู้ผลิตหรือบริษัทที่เชี่ยวชาญ เพื่อทดสอบการทำงานของระบบและอุปกรณ์ รวมถึงการเชื่อมต่อข้อมูลข้ามแพลตฟอร์ม และการพัฒนาโซลูชันที่เหมาะสมในอนาคต
“ในฐานะ System Integrator (SI) หน้าที่หลักคือการติดตั้งอุปกรณ์ต่างๆ ให้สามารถทำงานร่วมกับแพลตฟอร์ม IDA โดยเริ่มจากการสำรวจ ออกแบบ ประเมินปริมาณวัสดุและอุปกรณ์ และดำเนินการติดตั้ง รวมถึงการเชื่อมโยงฮาร์ดแวร์กับแพลตฟอร์ม IDA และระบบอื่นๆ สิ่งสำคัญของ SI คือ ต้องเข้าใจปัญหาและความต้องการของลูกค้า และพิจารณาถึงความคุ้มค่าของโซลูชันที่นำเสนอ”
การแก้ไข Pain Points ของโรงงานด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล
โรงงานส่วนใหญ่มีข้อมูลอยู่แล้ว แต่ยังไม่สามารถใช้ประโยชน์จากข้อมูลนั้นได้อย่างเต็มที่ เช่น ขาดระบบแจ้งเตือนเรียลไทม์เมื่อเกิดปัญหา ทำให้ไม่สามารถแก้ไขได้ทันเวลา การนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาใช้สามารถช่วยให้โรงงานเห็นข้อมูลที่เป็นประโยชน์ในการปรับปรุงและยกระดับการผลิตได้อย่างมาก เช่น การใช้เทคโนโลยี IoT เชื่อมต่อกับระบบวิเคราะห์ข้อมูลอุตสาหกรรม แสดงผลในรูปแบบ Dashboard ที่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องสามารถเห็นข้อมูลและตัดสินใจแก้ไขปัญหาได้แบบเรียลไทม์ ช่วยลดต้นทุนด้านพลังงานและปรับปรุงการบำรุงรักษาเครื่องจักรให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
SI ไม่เพียงแต่มีบทบาทในการติดตั้งอุปกรณ์เท่านั้น แต่ยังต้องให้ความรู้กับบุคลากรในโรงงานถึงวิธีการนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ในการยกระดับ ปรับปรุง และพัฒนากระบวนการทำงาน ปัญหาสำคัญคือโรงงานส่วนใหญ่ยังไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลได้อย่างเต็มที่ และไม่สามารถระบุปัญหาเกี่ยวกับการรั่วไหลของพลังงานหรือการใช้ต้นทุนด้านพลังงานได้อย่างถูกต้อง ดังนั้น เทคโนโลยีดิจิทัลจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับผู้ประกอบการที่จะต้องปรับตัวและนำมาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงาน
การเตรียมพร้อมสู่อุตสาหกรรม 4.0 ด้วย Thailand i4.0 Index
ดร. รวีภัทร์ ผุดผ่อง ผู้อำนวยการกลุ่มแพลตฟอร์มสนับสนุนอุตสาหกรรม 4.0 (สวทช.) ได้กล่าวถึงการประเมิน Thailand i4.0 Index ซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญในการประเมินระดับความพร้อมขององค์กร ตัวอย่างเช่น บริษัท ไลอ้อน (ประเทศไทย) จำกัด ได้ใช้เครื่องมือนี้เพื่อระบุจุดแข็ง จุดอ่อน และระดับความพร้อมขององค์กร และนำผลการประเมินมาจัดทำแผนปฏิบัติการเพื่อยกระดับขีดความสามารถของบริษัทด้วย Digital Transformation
แนวทางการยกระดับองค์กรเพื่อเตรียมพร้อมสู่อุตสาหกรรม 4.0 ประกอบด้วย 4 ขั้นตอนหลัก ได้แก่
- Online & Interactive Self-assessment : มีตัวชี้วัดเป็น Thailand 4.0 Index ที่ประกอบด้วย 6 มิติหลัก 17 มิติย่อย และสามารถสรุปผลได้เป็น 6 ระดับ Band โดย Band 5-6 จะเทียบเท่ากับ Industry 4.0
- Initiation : รับการประเมิน Thailand 4.0 Index แบบ On-site โดยผู้เชี่ยวชาญที่ให้คำแนะนำการพัฒนาต่อไป
- Solutioning : รับบริการที่ปรึกษาจากศูนย์นวัตกรรมการผลิตยั่งยืน (SMC) เช่น การทดลองใช้ Testbed & Facilities, การฝึกอบรม การวางแผนการลงทุน และการขอรับการส่งเสริมจาก BOI
- Implementation & Operation : การนำอุปกรณ์และโซลูชันไปใช้จริงในโรงงาน โดย SMC ยังมีแคมเปญให้เงินสนับสนุนสำหรับโรงงานที่สนใจในขั้นตอนนี้
แนวทางดังกล่าวช่วยให้องค์กรสามารถเตรียมความพร้อมและยกระดับขีดความสามารถในการก้าวเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรม 4.0 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
แหล่งที่มา : https://www.tcijthai.com/news/2024/9/scoop/13835